วันเสาร์, ตุลาคม 26, 2556
คุณผู้อ่านเชื่อไหมคะว่า.. ยา คือสิ่งที่กฎหมายห้ามโฆษณา
แต่มีข้อยกเว้นสำหรับยาพื้นฐาน ดังเช่น ยาสามัญประจำบ้าน

ยาสามัญประจำบ้านเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการเบื้องต้น
รักษาอาการได้เบื้องต้น และมีผลข้างเคียงน้อย
กฎหมายจึงกำหนดให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่าย
และอนุญาตให้บริษัทยาโฆษณายาสามัญประจำบ้านได้

ดังนั้นยาที่โฆษณาต่อประชาชน(อย่างถูกต้อง*)ได้
มีเพียงยาพื้นฐานเหล่านี้ เช่น ยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น
ยาที่โฆษณาจึงไม่ใช่ยาที่ดีที่สุด และไม่ใช่ยาที่แย่ที่สุด
1. ถ้าคุณผู้อ่านอยากได้ยาที่โฆษณา แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่หยิบมาให้
ก็อย่าได้น้อยใจไป ว่าเค้าไม่ทำตามสั่ง
มันเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของผู้ประกอบวิชาชีพ
ที่ต้องพิจารณาการจ่ายยาให้เหมาะสม ไม่สามารถจ่ายตามใจคนไข้ได้
2. ในขณะเดียวกันยาสามัญประจำบ้านก็มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง
อาการบางอาการสำหรับคนไข้บางคน,
ยาสามัญประจำบ้านจะเหมาะสมที่สุด ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มอื่นแม้ว่าจะดีกว่าก็ตาม


แต่ยาอื่นที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ตัวอย่างเช่น

  • ยาอันตราย** (ตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่พาราเซตามอน, เป็นต้น )
  • ยาควบคุมพิเศษ (ตัวอย่างเช่น Sildenafil(ชื่อยา) หรือชื่อยี่ห้อที่คุ้นเคยคือไวอะกร้า เป็นต้น)
  • วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2, 4 (ตัวอย่างเช่น Alprazolam ที่เคยกล่าวถึงในบล๊อก >> http://www.joyyim.com/2013/06/alprazolam.html )


กฎหมายห้ามโฆษณาต่อประชาชน,
โดยมีเหตุผลตรงๆสั้นๆคือ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถพิจารณาการใช้ยาเองได้
จึงกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อปกป้องไม่ให้ประชาชนถูกโฆษณาจูงใจไปใช้ยาที่ไม่เหมาะสม


นอกจากนี้ยังมีกฎหมายยาบางอย่างที่คุณผู้อ่านอาจคาดไม่ถึง
ที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ใช้ยาที่เหมาะสมเท่านั้นเช่นกัน
นั่นก็คือ.. ห้ามลด,แลก,แจก,แถมยา 
เราจึงไม่เคยเจอโรงพยาบาลหรือร้านยา ทำการตลาดแบบลด,แลก,แจก,แถม
ยกเว้นแพคเกจตรวจสุขภาพ, สินค้าเพื่อความงามและสุขภัณฑ์ เป็นต้นค่ะ



*การโฆษณายาผิดกฎหมาย
อาจพบเจอได้ยากตามโทรทัศน์
แต่พบเจอได้ง่ายและบ่อย ตามวิทยุ และ/หรือ สื่อออนไลน์

**คำว่ายาอันตราย เป็นชื่อกลุ่มยากลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ไม่ใช่ว่า..ยาอันตรายเป็นยากลุ่มที่อันตราย, แต่ยาที่ไม่จัดเป็นยาอันตรายจะไม่มีอันตราย
ยาทุกตัวล้วนมีอันตรายด้วยกันทั้งสิ้น 
แม้แต่พาราเซตามอนที่ทานตอนท้องว่างได้โดยไม่มีผลต่อกระเพาะอาหาร ก็มีอันตรายต่อตับ
แม้แต่วิตามินที่ละลายน้ำได้ อย่างวิตามินซี ก็ทำให้กรวยไตอักเสบได้


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น